หลังจากหายหน้าหายตาไปหลายวัน กลับมาคราวนี้มีตัวอย่างดีๆ มาเล่าสู่กันฟังครับ เป็๋นเรื่องของระบบดับเพลิง (Fire Protection System) เรื่องของเรื่องมันมีอย่างงี้ครับ
ผมเองเพิ่งได้ไปสำรวจโรงงานแห่งหนึ่งมา ระบบดับเพลิง (Fire Protection System) มีครบครับ ทั้งปั๊มป์น้ำดับเพลิง (Fire pump) ที่ได้มาตรฐาน ท่อดับเพลิงที่เดินรอบโรงงาน มีหัวจ่ายน้ำดับเพลิง (Fire hose connection) กระจายอยู่รอบๆ โรงงานอย่างทั่วถึง แล้วก็มีระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงอัตโนมัติ (Automatic Sprinkler System) อีกด้วย...อ้อ แล้วก็มีน้ำดับเพลิง (Fire Water) อย่างเพียงพอสำหรับดับเพลิงได้ประมาณครึ่งชั่วโมงตามมาตรฐานเป๊ะ...แต่มันมีปัญหาตรงนี้ครับ..
- อย่างแรก น้ำดับเพลิง (Fire Water) ที่ใช้สำหรับระบบดับเพลิง (Fire Protection system) เป็นน้ำที่ได้หลังจากการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งโดยทั่วไป บ่อสุดท้ายนี่จะพร้อมสำหรับปล่อยออกนอกโรงงานได้ แต่น้ำที่เจอกลับมีคุรภาพที่ไม่ดีเท่าที่ควร ยังมีฟองลอยอยู่และยังมีสีขุ่นคล้ำ เหมือนบำบัดแล้วไม่ได้คุณภาพ...ซึ่งตรงนี้ อาจจะส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อระบบดับเพลิง (Fire Protection system) ทั้งระบบก็ได้ โดยเฉพาะการผุกร่อนที่เร็วกว่าปกติ เช่น ใบพัดของปั๊มป์น้ำดับเพลิง ท่อน้ำดับเพลิง เป็นต้น
- หัวจ่ายน้ำดับเพลิง(Fire hose connection) ที่เห็น ฝาครอบปิดท่อหาย และซีลยางที่อยู่ด้านใน เพื่อป้องกันการรั่วของน้ำขณะเชื่อมต่อกับสายฉีดน้ำดับเพลิง(Fire Hose) มีการเสียหายและเสียรูป ตรงนี้เชื่อได้เลยครับว่า ต้องมีน้ำรั่วขณะใช้งานแน่นอน แรงดันและปริมาณน้ำดับเพลิงจะลดลง ซึ่งไปลดประสิทธิภาพของระบบดับเพลิงแน่นอน
- ยิ่งไปกว่านั้นครับ หัวจ่ายน้ำดับเพลิง(Fire hose connection) ที่ติดตั้งอยู่รอบๆ โรงงาน ดันมีแนวพุ่มไม้มาบดบังซะมิดเลย ถ้าไม่สังเกตุก็มองไม่เห็นครับ ... ตรงนี้มีผลมากต่อการใช้งานไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม เข้าถึงยากไม่พอ ยังมองไม่เห็นอีกต่างหาก...แล้วจะใช้งานกันยังไงเนี่ย..เฮ้อ..
- ระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงอัตโนมัติ (Automatic Sprinkler System) มีการติดตั้งเป็นอย่างดีครับ ซึ่งโดยปกติตามมาตรฐานของ วสท. หรือ NFPA จะกำหนดให้มีการทดสอบปล่อยน้ำทิ้งปีละครั้ง ซึ่งจะมีวาล์วติดตั้งให้ตรงปลายสุดของระบบ ตรงนี้เพื่อไล่น้ำเก่า และไล่สนิมออกไป...แต่เจ้ากรรม...ไม่มีการทดสอบเลยตั้งแต่ติดตั้งมาแปดปี แถมท่อยังผุกร่อนจนเห็นเนื้อเหล็กข้างใน...โอย..มันยังใช้งานได้มั้ย ผมก็ไม่รู้เหมือนกันครับ...
อันนี้แค่บางส่วนนะครับ อยากยกตัวอย่างมาให้ดู เพื่อจะได้เห็นภาพว่าการทีเรามีอุปกรณ์ใดๆ ก็ตามแล้วไม่มีการดูแลรักษา (Maintenance) อย่างสม่ำเสมอ มันก็จะเกิดความเสียหายได้ และไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ หรือเลวร้ายที่สุดเลยก็คือ ไม่รู้ว่ามันยังใช้งานได้หรือเปล่า หากในกรณีฉุกเฉิน เช่น ไฟไหม้ แล้วใช้งานไม่ได้ ก็เหนื่อยทั้งกาย เหนื่อยทั้งใจ เหนื่อยทั้งเจ้าของเงินล่ะครับ เพราะว่าความเสียหายมันเยอะเหลือเกิน...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น