วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

[2] การวิเคราะห์ความเสี่ยง...ไม่ยากอย่างที่คิด

ตามความเข้าใจของผม (ที่เป็น Risk Engineer) เท่าที่เคยได้สัมผัสมา การวิเคราะห์ความเสี่ยงเองเป็นอะไรที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน หากเรามองด้วยเงื่อนไขอันเป็นพื้นฐานที่สุด คือ เมื่อมีสิ่งนั้น จึงมีสิ่งนี้ ...เอาล่ะสิครับ ผมพาท่านผู้อ่านป่วนมาถึงท่านพุทธทาสภิกขุกันเลยทีเดียว....มันหมายความว่ายังไง? ก็ตรงตัวเลยครับ

เมื่อมีสิ่งนั้น            จึงมีสิ่งนี้                   เมื่อไม่มีสิ่งนั้น                       ก็ย่อมไม่มีสิ่งนี้
เมื่อมีทุกข์               ก็ย่อมมีสาเหตุแห่งทุกข์     เมื่อไม่มีเหตุแห่งทุกข์            ก็ย่อมไม่มีทุกข์
เมื่อมีปัญหา            ก็ย่อมมีสาเหตุแห่งปัญหา   เมื่อไม่มีเหตุแห่งปัญหา         ก็ย่อมไม่มีปัญหา
เมื่อมีผล                  ก็ย่อมจะมีเหตุ              เมื่อไม่มีเหตุ                           ก็ย่อมไม่มีผล

กลับเข้าเรื่องของเราครับ มันจึงกลายเป็นว่า เมื่อมีความเสี่ยง ก็ย่อมมีเหตุของความเสี่ยง และ เมื่อไม่มีเหตุแห่งความเสี่ยง ก็ย่อมไม่มีความเสี่ยงเช่นกัน ดังนั้น หากเราหาสาเหตุของความเสี่ยงเจอ เราก็สามารถที่จะลดความเสี่ยงตรงนั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดๆ ก็ตาม ... ผมใช้แค่คำว่า ลด นะครับ เพราะว่ามันยังคงมีโอกาสที่ความเสี่ยงนั้นยังคงอยู่....จะแก้ให้หายขาดนั้นยากครับ เอาแบบให้ลดลงเหลือน้อยที่สุดก็พอ

อาจมีคำถามเกิดขึ้นว่า ...แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าตรงไหนมีความเสี่ยง?... ผมเองเคยมีคำถามแบบนี้เหมือนกันครับ จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ จึงได้เริ่มเห็นการวิเคราะห์ที่สามารถช่วยเราได้ ซึ่งผมเองก็งงต้องกลับมาคิดไปอีกหลายวันเลยครับ ว่ามันจะใช่หนทางที่ช่วยเราวิเคราะห์ได้จริงหรือเปล่า...มันเป็นประโยคคำถามที่ง่ายมากๆ ครับ แค่คำว่า ทำไม...?” ทำไมถึงเป็นแบบนั้น ทำไมถึงเป็นแบบนี้ ทำไมแอร์ถึงไม่เย็น ทำไมรถมันถึงวิ่งแล้วดับ ทำไมของลูกค้าในโรงแรมถึงหายบ่อย ทำไมบ้านเราไม่มีหิมะ ...อีกสารพัดคำถามที่เคยตั้งกันมา ก็ในเมื่อไม่รู้ก็ ถาม และหาคำตอบ ครับ อาจจะถามมผู้รู้ อาจจะหาด้วยตัวเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องมีข้อมูลอ้างอิงเชื่อถือได้นะครับ ....เพื่อความถูกต้องในการวิเคราะห์

ยกตัวอย่างเช่น ทำไมแอร์รถไม่เย็น? เราก็ต้องรู้ก่อนว่ามันทำงานยังไง หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ตรวจสอบการทำงานไปทีละจุด เชื่อผมเถอะครับ มันต้องเจอสิ่งผิดปกติแน่นอน ยกตัวอย่างเป็น น้ำยาแอร์หมด ...)สาเหตุยอดฮิตของช่างแอร์)....ผมถามต่อครับว่า แอร์ในรถเรามันเป็นระบบปิด ไม่มีรั่วไหลออกมาข้างนอก น้ำยาแอร์จะหมุนเวียนถูกใช้งานอยู่อย่างนั้นทั้งปีทั้งชาติ แล้วมันจะหมดได้ยังไง? ในเมื่อมันหมด แสดงว่าต้องมีจุดรั่วใช่มั้ยครับ ...หากพี่ช่างเค้าเติมน้ำยาแอร์อย่างเดียว แต่ไม่ยอมหาจุดรั่วให้เรา อีกไม่นานเราก็ต้องกลับมาเติมน้ำยาแอร์ใหม่ด้วยสาเหตุเดิม....

ผมจะลองเปรียบเทียบการวิเคราะห์ความเสี่ยงให้เห็นภาพชัดขึ้นอีก ลองดูจุดที่เราจะวิเคราะห์ต่อไปนี้ครับ 
สุขภาพร่างกายของเรา - ต้องสังเกตุอาการเจ็บไข้ได้ป่วย   ต้องไปหาหมอเพื่อรักษา   ต้องหมอถูกโรคด้วยนะครับ ถึงจะหาย
รถยนต์ - ต้องสังเกตุเวลามีสิ่งผิดปกติ         ต้องไปหาช่างเพื่อซ่อม      ต้องช่างเก่งๆ ด้วยนะครับ ถึงจะซ่อมแล้วหาย
คอมพิวเตอร์ - ต้องสังเกตุโปรแกรมที่มันเพี้ยนๆ  ต้องไปหาช่างเพื่อซ่อม   ถ้าช่างไม่เก่ง วิเคราะห์ไม่เป็น ทั้งวันก็แก้ไม่จบครับ
โรงงาน - ต้องดูว่าการผลิตจุดไหนมีประสิทธิภาพต่ำ  ต้องวิเคราะห์เพื่อหาทางปรับปรุง  ถ้าแก้ไม่ถูกอาจจะแย่ลงกว่าเดิม
ความปลอดภัย -  ต้องดูว่าตรงไหนไม่ปลอดภัย     ต้องหาวิธีการที่ทำให้ปลอดภัยมากขึ้น
งานขาย - ต้องดูว่าสินค้าไหนขายได้น้อย   ปรับปรุงวิธีการทำการตลาดเพื่อทำให้ขายได้มากขึ้น
อยากเพิ่มยอดขาย - วิเคราะห์ว่าแนวโน้มตลาดเป็นยังไง    ต้องหาสินค้าที่คิดว่าขายได้ดี  และทำยังไงถึงจะขายได้แบบถล่มทลาย

สังเกตุมั้ยครับ ไม่ว่าเราจะวิเคราะห์อะไรก็ตาม จะเริ่มจาก ปัญหา-สาเหตุของปัญหา-วิธีการแก้ไข หรืออาจจะเป็น สิ่งที่เราไม่รู้-หาข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจ-วิเคราะห์ว่ามีความเสี่ยงตรงไหน-หาวิธีการลดความเสี่ยง จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องใกล้ตัวมากครับ แต่เราทำไปโดยไม่รู้ตัวเท่านั้นเอง...ก็อย่างที่บอกครับ ...ผมต้องคิดหลายวันเลยว่ามันจะง่ายอย่างนี้เลยเหรอ? หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับ why-why analysis, 5W1H (Who-What-Where-When-Why-How) หรือแผนภูมิก้างปลา ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้มันเป็นการวิเคราะห์ความเสี่ยงแบบหนึ่งครับ และสามารถหาทางแก้ไขปรับปรุงไปในตัวด้วย

แล้วในกรณีที่ไม่เกิดปัญหา แต่ต้องการป้องกันไม่เกิดล่ะ? ก็เข้าทาง สิ่งที่เราไม่รู้-หาข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจ-วิเคราะห์ว่ามีความเสี่ยงหรือโอกาสที่จะเกิดปัญหาอยู่ตรงไหน-หาวิธีการลดความเสี่ยงหรือป้องกันปัญหา เลยครับ เหมือนกันเป๊ะๆ....สิ่งสำคัญที่สุดคือ การวิเคราะห์ต้องอ้างอิงจากข้อมูลที่เชื่อถือได้เท่านั้นครับ....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น