วันอังคารที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2554

[12] Risk Engineer ... หลักสูตรไหนเนี่ย ไม่เคยได้ยิน!? (Part 2)

บทความนี้มาต่อกันจากบทความที่แล้วครับ ว่า "วิศวกรรมแต่ละสาขา เกี่ยวข้องกับธุรกิจยังไง?"

ยกตัวอย่างเป็น "โรงงานผลิตน้ำตาล" ก็แล้วกันนะครับ กระบวนการผลิตจะเป็นแบบนี้
  • อ้อยจากไร่ถูกตัด ปอกเปลือก และย่อย เป็นชิ้นเล็กๆ
  • ผ่านลูกหีบเพื่อรีดเอาน้ำอ้อยออกมา ตรงนี้จะผ่านลูกหีบประมาณ 6 ชุด น้ำอ้อยจากลูกหีบชุดหลังจะถุกส่งไปรีดน้ำอ้อยชุดแรกๆ เพื่อให้ได้น้ำอ้อยออกมามากที่สุด กระบวนการนี้จะมีไอน้ำมาเกี่ยวข้องด้วยครับ เพื่อช่วยรีดน้ำอ้อยเช่นกัน สิ่งที่เหลือคือ กากอ้อยหรือชานอ้อย (Bagasses) ขนาดฝุ่นผง เอาไปทำเชื้อเพลิงต่อ และกากน้ำตาลหรือโมลาส (molass)
  • น้ำอ้อยถูกกรองและตกตะกอนเอาสิ่งเจือปนออก เหลือแต่น้ำอ้อยใสๆ
  • น้ำอ้อยถูกเพิ่มความเข้มข้น เป็นนำเชื่อม (Syrup) ด้วยหม้อต้ม โดยระเหยไอน้ำออกไป เอาไอน้ำไปใช้รีดน้ำอ้อยต่อ
  • น้ำเชื่อมถูกทำให้ตกผลึกออกมาเป็นน้ำตาล ตรงนี้เรียกว่าน้ำตาลทรายดิบ (Raw Sugar)
  • น้ำตาลทรายดิบจะถูกละลายและทำให้ขาวขึ้นด้วยการเติมคาร์บอนไดออกไซด์ แล้วผ่านกระบวนการตกผลึกอีกที ทีนี้ก็ได้น้ำตาลทรายขาวแล้วครับ
  • ชานอ้อยที่เหลือจากกระบวนการรีดน้ำอ้อย จะถูกนำไปเป็นเชื้อเพลิงของหม้อต้มไอน้ำ ซึ่งจะใช้ ไอน้ำไปให้ความร้อนกับกระบวนการต่างๆ เช่น เพิ่มความเข้มข้นของน้ำเชื่อม หรือตกผลึก แต่ส่วนที่สำคัญมากคือเอาไปใช้สร้างไฟฟ้าด้วยเครื่องปั่นไฟ (Steam Turbine Generator) สำหรับใช้ในโรงงานและขายให้กับการไฟฟ้า
  • โมลาสสามารถนำไปหมักเพื่อผลิตเป็นเอทานอลให้เราๆ ใช้กันได้อีก
ทีนี้มาดูกันครับ ว่าใครอยู่ตรงไหนบ้าง
  • โยธา : ก็ว่ากันตั้งแต่โครงสร้างของโรงงาน และโกดังเก็บสินค้าที่ต้องสามารถรับน้ำหนักได้อย่างเพียงพอ ผนังนี่ต้องหล่อคอนกรีตอย่างหนาเพื่อไม่ให้เอียงออกมาเวลาเจอกองน้ำตาลขนาดมหึมา น้องๆ ภูเขาเลยทีเดียว
  • เครื่องกล : เป็นพวกการดูแลเครื่องจักร และเครื่องยนต์กลไกต่างๆครับ
  • ไฟฟ้า : เป็นส่วนของระบบไฟฟ้าทั้งหมดของโรงงาน รวมไปถึงโรงไฟฟ้าด้วยนะครับ สำคัญมาก
  • เคมี : ดูแลกระบวนการผลิตทั้งหมด ตรวจตราค่าตัวเลขต่างๆที่ส่งเข้ามาทางหน้าจอควบคุม ว่าได้ตามค่าที่ตั้งไว้หรือไม่
  • สิ่งแวดล้อม : ก็วิเคราะห์และควบคุมระบบบำบัดน้ำเสียในโรงงาน รวมไปถึงความปลอดภัยทางสิ่งแวดล้อมด้วย
  • อุตสาหการ : มาดูแลเรื่องระบบการทำงาน ทำยังไงให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
จริงๆ แล้วมันจะมีนอกเหนือจากงานวิศวกรรมนะครับ เช่น วิทยาศาสตร์หรือสาขาไหนก็ตาม มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งนั้น แต่ผมอาจจะไม่ได้กล่าวถึงเท่านั้นเอง

พอเห็นภาพชัดขึ้นมั้ยครับ ที่นี้มาถึงงานของวิศวกรประเมินความเสี่ยง (Risk Engineer) กันบ้าง ซึ่งงานนี้จะเกี่ยวข้องกับทุกหน่วยงานในโรงงานเลยครับ เพราะว่ามันหมายถึงการลดความเสี่ยงในทุกๆ กระบวนการผลิตและการจัดการ เพื่อลดโอกาสการเกิดความเสียหายภายในโรงงานไม่ว่าจะทรัพย์สินหรือการดำเนินธุรกิจ เช่น
  • ลุกหีบมี 6 ชุด ถ้าชุดใดชุดหนึ่งเสียหาย สามารถเดินเครื่องต่อได้หรือไม่ มีการจัดการยังไง
  • หม้อต้มไอน้ำมีการดูแลรักษายังไง มีระบบความปลอดภัยอะไรบ้าง เนื่องจากไอน้ำมีความร้อนสูงมาก ไม่ต่ำกว่า 200-300 องศาเซลเซียส ถ้ารั่วออกมาจะสร้างความเสียหายมากแค่ไหนคงไม่ต้องบอกครับ
  • การตกผลึกน้ำตาลต้องมีการกวนตลอดเวลาเพื่อไม่ให้ตกผลึกแข็งทั้งหม้อ ถ้าหากการควบคุมอุณหภูมิไม่ดี หรือว่าใบกวนหยุดไป ก็จะทำให้เสียหายทั้งหมด ตรงนี้มีวิธีการป้องกันยังไง
  • ปกติโรงงานน้ำตาลจะผลิตต่อเนื่อง 4-5 เดือนติดต่อกันโดยประมาณ (ธ.ค. - เม.ย.) เวลาที่เหลือหลังจากนั้นจะซ่อมแซมอย่างเดียว ตรงนี้เรามีแผนซ่อมบำรุงแบบไหน เพราะเครื่องจักรใช้งานมาหนักเหลือเกิน
  • ต่อเนื่องจากข้อข้างบนนะครับ ถ้าเกิดอยู่ในช่วงที่มีการผลิต แต่เครื่องใดเครื่องหนึ่งดันเกิดเสียขึ้นมาทำให้ต้องหยุดการผลิต ธุรกิจจะเสียหายมากน้อยขนาดไหน ก็ต้องทำการวิเคราะห์ด้วยนะครับ
  • ระบบป้องกันอัคคีภัยต่างๆ มีการดูแลรักษาอย่างดีหรือไม่ เพราะว่าต้องพร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา
เห็นมั้ยครับว่า งานทุกสาขาวิชามีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจไปหมด ขึ้นอยู่กับว่าจะรับผิดชอบตรงส่วนไหนเท่านั้นเอง การเป็นวิศวกรประเมินความเสี่ยงเองก็เช่นกัน ต้องอาศัยองค์ความรู้ในหลายๆ ส่วนมาประกอบกัน รวมไปถึงสถิติการเกิดความเสียหายเพื่อนำมาประกอบการพิจารณา ว่ามีความเสี่ยงตรงไหนบ้าง...

ถึงตรงนี้แล้ว คงพอทำให้เข้าใจงานของการประมินความเสี่ยง (Risk Management) มากขึ้นนะครับ ว่าถึงแม้ไม่มีสอนเป็นเรื่องเป็นราว แต่ก็เป็นคนที่ประเมินความเสี่ยงหรือ Risk Engineer ได้ไม่ยาก แค่เราเข้าใจในเรื่องนั้นๆ ก็พอ....จบภาค Risk Engineer ครับ ใครสงสัยตรงไหน โพสต์ถามมาได้ตามสะดวก ยินดีตอบทุกคำถามครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น