วันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2554

[11] Risk Engineer ... หลักสูตรไหนเนี่ย ไม่เคยได้ยิน!? (Part 1)

เมื่อพูดถึงคนที่จะทำการประเมินความเสี่ยง (Risk Management) ก็ต้องพูดถึง "วิศวกรประเมินความเสี่ยง (Risk Engineer) " เป็นอันดับแรก...อย่าว่าอย่างงั้นอย่างงี้เลยครับ ผมเองเพิ่งเคยได้ยิน ก่อนจะเข้าวงการนี้ัเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง...แล้วเจ้า Risk Engineer นี่เค้าเปิดสอนกันที่ไหนรึ? หลักสูตรมันเป็นยังไง?

ผมจะบอกความจริงว่า "ไม่มีเปิดสอนในส่วนวิศวกรรมครับ!" ส่วนใหญ่จะแทรกอยู่ตามหลักสูตรต่างๆ แต่ไม่มีการทำเป็นรุปธรรมชัดเจน ที่ใกล้เคียงที่สุดก็คงเป็น Fire protection Engineer ที่ในเมืองไทยเปิดสอนที่เดียวเองมั้งครับถ้าจำไม่ผิด (อยากเรียนอยู่เหมือนกัน อิอิ) แล้วก็มีเปิดสอนในส่วนของหลักสูตรความปลอดภัย ในสาขาสาธารณสุขอะไรซักอย่างนี่แหล่ะครับไม่แน่ใจ แต่ที่แน่ๆ ไม่มีในทางวิศวกรรมแน่นอน ....เอาล่ะสิแล้วมันเป็นกันได้ยังไงเนี่ย เจ้า Risk Engineer เนี่ย?


จริงๆแล้ว วิศวกรประเมินความเสี่ยง (Risk Engineer) จะเป็นคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับวงการประกันภัย ในส่วนงานวินาศภัย หรืองานที่ต้องรับประกันทรัพย์สินของลูกค้าหรือผู้เอาประกันภัย คนที่เป็น Risk Engineer จะต้องทำการประเมินความเสี่ยงของ "ภัย (Risk)" นั้นๆ และทำการสรุปผลการประเมินให้กับทางทีมงานว่าดีหรือไม่ดียังไง มีจุดเด่นจุดด้อย และต้องทำการปรับปรุงในเรื่องไหนบ้าง

ลักษณะของ "ภัย (Risk)" ที่ทำการประเมินส่วนใหญ่จะมีขนาดตั้งแต่เล็กไปจนใหญ่ เช่น โรงงานผลิตชิ้นส่วนพลาสติก โรงงานประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โรงแรม คอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน โรงหลอมเหล็ก โรงไฟฟ้า โรงงานน้ำตาล โรงงานผลิตสารเคมี และอื่นๆ อีกเยอะแยะมากมาย เท่าที่ยังมีคนต้องการทำประกันภัยทรัพย์สิน...ส่วนตัวผมเองชอบไปตามตึกสูงครับ พอยืนอยู่บนชั้นดาดฟ้าแล้ววิวสวยมากจริงๆ...

ส่วนการประเมินนั้นจะใช้ความรู้ที่ติดตัวมา บวกกับแนวทางในการสำรวจภัย (Guideline) ที่เป็นแหล่งข้อมูลอย่างดีสำหรับการสำรวจภัยในธุรกิจต่างๆ ซึ่งทำการเก็บรวบรวมจากสถิติและข้อควรระวัง รวมไปถึงข้อเสนอแนะสำหรับการปรับปรุงเพื่อลดความเสี่ยง ซึ่งแนวทางในการสำรวจภัย (Guideline) จะรวมทุกหัวข้อที่เกี่ยวข้องครับ ไม่ว่าจะเป็น(อันนี้แค่ตัวอย่างนะครับ)
  • ลักษณะธุรกิจ
  • กระบวนการผลิต
  • ระบบป้องกันอัคคีภัยที่จำเป็นต้องมี
  • ความเสี่ยงที่มีในธุรกิจนั้นๆ
  • แนวทางการปรับปรุงตามมาตรฐานสากล
ทั้งหมดนี้สามารถใช้เป็นแนวทางในการสำรวจภัยได้ ซึ่งการจะบอกได้ว่าสิ่งที่เป็นอยู่ของธุรกิจนั้นเหมาะสมหรือไม่ ก็อ้างอิงตามมาตรฐานเป็นหลักครับ ที่ยอดนิยมก็เช่น วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และ National Fire Protection Association (NFPA) เป็นต้น

ขอย้อนกลับไปที่เรื่ององค์ความรู้ซักหน่อย จริงๆ แล้วไม่จำกัดครับ ว่าจะต้องมีความรู้ด้านไหน ขอเพียงแค่มีความรู้ความสามารถที่จะเข้าใจและวิเคราะห์ได้เป็นอย่างดีก็พอ ไม่ว่าจะเรียนมาทางไหน ก็เป็นกันได้ทั้งนั้นครับ เช่น โยธา เคมี อุตสาหการ เครื่องกล เครื่องมือและวัสดุ สิ่งแวดล้อม ไฟฟ้า เป็นต้น เพราะส่วนใหญ่แล้วแต่ละธุรกิจก็จะประกอบไปด้วยส่วนงานพวกนี้ทั้งนั้นแหล่ะครับ ...ไม่เชื่อลองพิจารณาดูสิ

ยิ่งเขียนยิ่งยาวครับ ขอยกยอดไปต่อตอนหน้าแล้วกันนะครับ...จะอธิบายว่าวิศวกรรมแต่ละสาขา มันเกี่ยวข้องกับธุรกิจยังไง จะได้เห็นภาพกว้างและชัดเจนมากขึ้นครับ...

1 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณสำหรับบทความเกี่ยวกับ Risk Eng ครับ ประกอบความรู้ได้เยอะเลย

    ตอบลบ